Download
ภาพรวมผลการดำเนินงานของกลุ่มเคซีอี ในปี 2559

ในปี 2559 เคซีอีได้ก้าวเข้าสู่บทใหม่แห่งความสำเร็จในการเติบโตรอบใหม่อย่างยั่งยืน จากจุดเริ่มต้นในปีก่อน ที่มีการขยายกำลังการผลิตของโรงงานใหม่ เฟสที่ 1 และ 2 ส่งผลให้รายได้และกำไรเติบโตขึ้นเป็นลำดับ ทั้งในไตรมาสต่อไตรมาส และปีต่อปี ตามอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานใหม่ที่เพิ่มขึ้นจนใกล้จุดสูงสุดเต็มกำลังการผลิต ซึ่งเป็นผลจากคำสั่งซื้อที่เพื่มขึ้นและการโอนย้ายกำลังการผลิตส่วนใหญ่มาจากโรงงานเก่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนั้น โดยได้รับแรงผลักดันจาก 1) ยอดขายที่เติบโตขึ้นถึงเกือบร้อยละ 11 จากปีก่อน และ 2) จากอัตรากำไรที่ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ร้อยละ 36 ซึ่งเป็นผลจากการที่โรงงานใหม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้ในระดับสูง จนเกิดการประหยัดต่อขนาด (economies of scale) เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ผลการดำเนินงานของปี 2559 สรุปได้ดังนี้

(หน่วย: ล้านบาท)

  ปี 2559 ปี 2558 เปลี่ยนแปลง ปี 2557 เปลี่ยนแปลง
2558/2557
รายได้จากการขาย 13,797.5 12,448.7 +10.8% 11,284.3 +10.3%
ต้นทุนขาย 8,985.0 8,535.0   7,717.6  
อัตรากำไรขั้นต้น 34.99% 31.4%   31.6%  
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 1,694.9 1,520.4   1,682.5  
กำไรจากการดำเนินงาน* 2,912.8 2,192.2 +32.9% 1,798.1 +21.9%
(ร้อยละ) 21.1% 17.6%   15.9%  
กำไรสุทธิ 3,038.7 2,240.1 +35.7% 2,109.8 +6.2%
(ร้อยละ) 22.0% 18.0%   18.6%  

หมายเหตุ* ไม่รวมผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

การวิเคราะห์รายได้

รายได้จากการขายและบริการ

รายได้จากการขายของกลุ่มบริษัท ในรูปสกุลเงินบาท เพิ่มสูงขึ้นจาก 12,448.7 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 13,797.5 ล้านบาท ในปี 2559 คิดเป็นการเติบโตถึงกว่าร้อยละ 10 โดยหลักเป็นผลจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นเพราะมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ในโครงการส่วนขยาย เฟส 1 และ เฟส 2 ของโรงงานใหม่ อย่างไรก็ตาม ยอดขายได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท และจากการเปลี่ยนเทอมการขายเป็นแบบการขายฝาก (consignment) กับลูกค้าหลักบางราย ทำให้มีการรับรู้รายได้ในปีนี้ช้าลง โดยส่วนต่างของรายได้จะไปรับรู้ในปีถัดไปแทน

รายได้จากการขายและบริการ รายไตรมาส

รายได้จากการขายเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ สู่ระดับสูงสุดใหม่ ใน 5 ปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง โดยยอดขายรายไตรมาสในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีดังนี้

(หน่วย: ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

  ปี 2559 ปี 2558 ปี 2557 ปี 2556 ปี 2555
ไตรมาส 1 99.7 88.7 79.2 67.4 43.6
ไตรมาส 2 102.2 92.0 80.8 76.0 48.4
ไตรมาส 3 101.6 94.0 87.9 81.0 56.3
ไตรมาส 4 90.6 90.2 77.5 79.0 61.2
  394.0 364.9 325.4 303.4 209.4

ยอดขายผลิตภัณฑ์ PCB ตามสัดส่วน Layer count เป็นดังนี้

(หน่วย: ร้อยละ ของตารางฟุต)

  ปี 2559 ปี 2558 ปี 2557 ปี 2556 ปี 2555
แผ่นวงจรสองหน้า 25.7% 26.6% 29.0% 28.9% 29.7%
แผ่นวงจร 4 ชั้น 52.1% 51.7% 51.6% 51.4% 55.1%
แผ่นวงจร 6 ชั้น 22.2% 21.7% 19.5% 19.7% 15.2%

สัดส่วนการขายตามเขตทางภูมิศาสตร์

(หน่วย: ร้อยละ ของยอดขาย)

  ปี 2559 ปี 2558 ปี 2557 ปี 2556 ปี 2555
ยุโรป 54.9% 55.1% 55.5% 54.7% 62.0%
สหรัฐอเมริกา 16.1% 18.6% 18.6% 20.7% 16.7%
เอเซีย 21.7% 20.3% 20.6% 19.9% 17.8%
ภายในประเทศ 7.4% 6.0% 5.2% 4.7% 3.5%

 

รายได้อื่นๆ

รายได้อื่นประกอบด้วยรายละเอียดดังนี้

(หน่วย: ล้านบาท)

  ปี 2559 ปี 2558 ปี 2557 ปี 2556 ปี 2555
รายได้จากการขายเศษวัสดุ 26.4 24.5 42.7 39.0 28.7
กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 125.9 47.9 95.5 89.3 159.0
รายได้เบ็ดเตล็ด 28.3 10.0 15.7 17.9 43.2
รวมรายได้อื่น 180.6 82.4 153.9 146.2 230.9

 

การวิเคราะห์ต้นทุนขายและกำไรขั้นต้น

ในปี 2559 ต้นทุนขายมีสัดส่วนโดยเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 66.1 ต่อยอดขาย ซึ่งลดลงจากปี 2558 ที่ร้อยละ 68.6 ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยของปีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 31.4 ต่อยอดขายในปี 2558 เป็น 34.9 ในปี 2559 โดยทำอัตรากำไรขั้นต้นสูงสุดที่ ร้อยละ 36.0 ในไตรมาส 3/59 ตามประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นของโรงงานใหม่ และจากการประหยัดต่อขนาดที่เพิ่มมากขึ้น (economies of scale) รวมทั้งจากโครงการประหยัดต้นทุนต่างๆที่ทำอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ของเสียจากการผลิตทรงตัวในอัตราที่ควบคุม ส่งผลให้ต้นทุนต่ำลง และอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ดียิ่งขึ้น แม้จะมีแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นด้วย

ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร

ค่าใช้จ่ายในการขาย

ค่าใช้จ่ายในการขาย ในปี 2559 มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 4.1 ต่อยอดขาย และมีจำนวน 568 ล้านบาท เทียบกับในปี 2558 ที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 4.4 และมีจำนวน 552 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 เป็นค่าใช้จ่ายผันแปรที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงตามสัดส่วนต่อยอดขาย ค่าใช้จ่ายดังกล่าว ประกอบด้วยค่าระวางขนส่ง ค่าประกันภัยทางทะเล ค่านายหน้าสำหรับตัวแทนขายในต่างประเทศ ค่าวัสดุหีบห่อ และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ผันแปรตามปริมาณขาย ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 20 เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ ได้แก่ เงินเดือนพนักงานฝ่ายขาย ค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ ค่าสินค้าตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายสินค้าคืน ค่าคัดเลือกสินค้า และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดในแผนกขาย

ค่าใช้จ่ายในการบริหาร

ค่าใช้จ่ายในการบริหารส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น เงินเดือนเจ้าหน้าที่สำนักงาน และ สวัสดิการพนักงาน ค่าซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารสำนักงานและอุปกรณ์ต่างๆ ค่าดูแลระบบคอมพิวเตอร์ ค่าไฟของส่วนสำนักงาน ค่าบริการรักษาความปลอดภัย ค่าใช้จ่ายเดินทาง ค่าใช้จ่ายการสื่อสารโทรคมนาคม ค่ารถรับ-ส่งพนักงาน ค่าบริการที่ปรึกษาทางกฎหมาย ค่าสอบบัญชี ค่าเบี้ยประกันภัยทรัพย์สิน ค่าวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินฝ่ายบริหาร ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการจำหน่ายทรัพย์สิน และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดต่างๆ

ค่าใช้จ่ายบริหารในปี 2559 มีจำนวน 1,127 ล้านบาท เทียบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในปีก่อนจำนวน 968 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายโดยรวมที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นนั้น มีสาเหตุหลัก จากค่าใช้จ่ายพนักงานที่สูงขึ้นตามผลประกอบการของบริษัทที่ดีขึ้น และจากโครงการร่วมลงทุนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง (Employee Joint Investment Program) สำหรับพนักงานและผู้บริหารของกลุ่มบริษัทเคซีอี ซึ่งเป็นโครงการใหม่ที่เริ่มในเดือนกรกฎาคมปีนี้ นอกจากนั้น บริษัทย่อยแห่งหนึ่งได้ตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สิน เป็นจำนวนประมาณ 57 ล้านบาท สำหรับเครื่องจักรเก่าที่ถูกเปลี่ยนแทนในโครงการปรับประสิทธิภาพการผลิต

กำไรจากการดำเนินงาน / กำไรสุทธิ

ในปี 2559 เคซีอียังสามารถสร้างผลกำไรให้เติบโตต่อไปได้อีกถึง ร้อยละ 32.9 จากที่เพิ่มขึ้นมาแล้ว ร้อยละ 21.9 ในปี 2558-57 โดยมีกำไรปกติจากการดำเนินงาน จำนวน 2,913 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่ 2,192 ล้านบาท เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของยอดขาย ประกอบกับประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นของโรงงานใหม่ ทำให้ต้นทุนต่ำลง อัตรากำไรขั้นต้นเติบโตขึ้น แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศ นอกจากนั้น มีค่าใช้จ่ายทางภาษีเกี่ยวกับเงินชดเชยค่าประกันของปีก่อน จำนวนประมาณ 22 ล้านบาท ที่เป็นรายการพิเศษในปี 2559 นี้ด้วย

ในส่วนของกำไรสุทธิในรอบปี 2559 กลุ่มบริษัทได้รายงานผลกำไรสุทธิรวม จำนวน 3,039 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ 35.7 จากกำไร 2,240 ล้านบาทในปี 2558 ความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นนั้นเป็นผลมาจากประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นตามการขยายกำลังการผลิตที่โรงงานใหม่ การเติบโตของยอดขาย และส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศ โดยที่กำไรขั้นต้นขยายตัวต่อเนื่อง และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารทรงตัว

เมื่อเทียบกับปี 2558 กำไรต่อหุ้นพื้นฐาน (Basic EPS) เพิ่มขึ้นจาก 3.93 บาทต่อหุ้น เป็น 5.23 บาทต่อหุ้น ในปี 2559

ฐานะทางการเงิน

สินทรัพย์

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ตามงบการเงินรวม บริษัทฯและบริษัทย่อย มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 17,327 ล้านบาท ประกอบด้วยสินทรัพย์หมุนเวียน 7,296 ล้านบาท ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์-สุทธิ 9,137 ล้านบาท อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน 196 ล้านบาท สินทรัพย์ไม่มีตัวตน 329 ล้านบาท ค่าความนิยม 117 ล้านบาท เงินลงทุนในบริษัทร่วม 122 ล้านบาท สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี 52 ล้านบาท และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่นๆ จำนวน 78 ล้านบาท

ทั้งนี้ สินทรัพย์รวมมีมูลค่าเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 498 ล้านบาท จากปีก่อน โดยหลักมาจาก มีเงินสดเพิ่มขึ้น 218 ล้านบาท ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นที่มีจำนวนลดลง 460 ล้านบาท สินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น 581 ล้านบาท ตามปริมาณการผลิตที่สูงขึ้น รวมทั้งจากการเปลี่ยนเทอมการขายเป็บแบบ consignment ที่เริ่มตั้งแต่กลางปี และรายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ที่มีมูลค่าสุทธิเพิ่มขึ้น 117 ล้านบาท จากการลงทุนต่อเนื่องในโครงการสร้างโรงงานใหม่ เฟสที่ 3 ของบริษัทฯ และการลงทุนในบริษัทย่อยเพื่อปรับประสิทธิภาพการผลิต

ลูกหนี้การค้า และลูกหนี้อื่น

ลูกค้าของบริษัทฯ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จึงเป็นลูกหนี้ที่มีคุณภาพ ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นเปลี่ยนแปลงลดลงจาก 4,540 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 4,080 ล้านบาทในปี 2559 เพราะบริหารการเก็บหนี้ และติดตามหนี้ค้างนานได้ดีขึ้น สำหรับปี 2559 ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ยเท่ากับ 121 วัน อย่างไรก็ดี บริษัทฯ มีนโยบายเกี่ยวกับการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ โดยประเมินการวิเคราะห์ประวัติการชำระหนี้ และการคาดการณ์เกี่ยวกับการชำระหนี้ในอนาคตของลูกค้า ลูกหนี้จะถูกตัดจำหน่ายบัญชีเมื่อทราบว่าเป็นหนี้สูญ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ไม่มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามนโยบายดังกล่าว

สินค้าคงเหลือ

บริษัทฯและบริษัทย่อย มีสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 จำนวน 2,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 581 ล้านบาท จากปี 2558 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของปริมาณการผลิตเพื่อรองรับออเดอร์ของลูกค้า

ทั้งนี้ สินค้าคงเหลือ 31 ธันวาคม 2559 ในงบการเงินรวม ได้รวมสินค้าสำเร็จรูป จำนวน 376 ล้านบาท (31 ธันวาคม 2558: 25 ล้านบาท) ที่กลุ่มบริษัทจัดส่งสินค้าไปยังคลังสินค้าของลูกค้าแล้ว แต่กลุ่มบริษัทยังคงถือกรรมสิทธิ์ของสินค้าจนกว่าจะมีการเบิกใช้ในการผลิตของลูกค้า และจะได้รับชำระค่าสินค้าเมื่อมีการเบิกใช้ในการผลิตของลูกค้าหรือภายในระยะเวลาที่ระบุในสัญญา

บริษัทฯ มีนโยบายตั้งค่าเผื่อสินค้าเสื่อมคุณภาพ ตามอายุของวัตถุดิบแต่ละประเภท ตามความเหมาะสม และตั้งค่าเผื่อการลดลงของมูลค่าสินค้าคงเหลือ ให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่คาดว่าจะได้รับ (Net Realizable Value) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 บริษัทฯและบริษัทย่อยได้ตั้งค่าเผื่อมูลค่าสินค้าลดลงไว้ เป็นจำนวน 86 ล้านบาท และได้บันทึกการปรับลดมูลค่าดังกล่าว รวมไว้ในต้นทุนขายของปี 2559 จำนวน 22 ล้านบาท

ระยะเวลาหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือเฉลี่ย ในปี 2559 เท่ากับ 31 วัน ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่ 33 วัน

หนี้สิน

(หน่วย: ล้านบาท)

  ปี 2559 ปี 2558 ปี 2557 ปี 2556 ปี 2555
หนี้สินรวม 7,300 8,729 8,771 7,173 7,178
เงินกู้ยืม :          
เงินกู้ยืมระยะสั้น 1,808 2,139 2,652 3,219 2,812
เงินกู้ยืมระยะยาว 2,698 4,123 3,177 1,622 2,690
สัญญาเช่าการเงิน 22 50 80 10 29
รวมเงินกู้ยืม 4,528 6,312 5,909 4,851 5,531
อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (เท่า) 0.73 1.08 1.37 1.75 2.33

อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะ 1) หนี้สินลดลงไปมาก เนื่องจากบริษัทฯ และบริษัทในเครือทุกบริษัท มีผลการดำเนินงานที่ดี ทำให้มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้น จึงใช้เงินกู้ยืมระยะสั้นน้อยลง อีกทั้ง บริษัทฯ ยังได้ชำระคืนเงินกู้ระยะยาวก่อนกำหนด จำนวนประมาณ 1,400 ล้านบาท และเงินกู้ยืมระยะยาวของเคซีอี เทคโนโลยี ก็ได้ชำระคืนทั้งหมดแล้ว และ 2) ส่วนของผู้ถือหุ้นก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นผลจากกำไรจากการดำเนินงาน และหักการจ่ายเงินปันผล จำนวน 1,171 ล้านบาท ในระหว่างปี 2559

สภาพคล่อง

จากการที่บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีผลกำไรจากการดำเนินงานในปี 2559 ทำให้มีกระแสเงินสดสุทธิที่ได้มาจากกิจกรรมดำเนินงานเป็นจำนวนถึง 4,373 ล้านบาท (ปี 2558: 2,590 ล้านบาท) จากงบกระแสเงินสด มีเงินสดที่ใช้ไปในกิจกรรมลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงงานใหม่และการซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ รวม 1,032 ล้านบาท ทั้งนี้ มีเงินสดสุทธิที่ใช้ไปในกิจกรรมจัดหาเงินจำนวน 3,123 ล้านบาท โดยเป็นการชำระหนี้เงินกู้ทั้งสิ้น 2,201 ล้านบาท (ปี 2558: 382 ล้านบาท) ในจำนวนนี้ เป็นการชำระหนี้คืนก่อนกำหนด จำนวนประมาณ 1,400 ล้านบาท และมีการจ่ายปันผล 1,171 ล้านบาท (ปี 2558: 694 ล้านบาท) โดยสรุป มีเงินสดคงเหลือ ณ 31 ธันวาคม 2559 เพิ่มขึ้นเป็น จำนวน 891 ล้านบาท

อัตราส่วนสภาพคล่อง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 มีอัตราเพิ่มขึ้น จาก 1.38 เป็น 1.48 เท่า ซึ่งเป็นผลจากสินทรัพย์หมุนเวียนเพิ่มขึ้น ในขณะที่หนี้สินหมุนเวียนต่ำลง เพราะมีกระแสเงินสดที่เข้ามาจากกำไรจากการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีความสามารถในการจ่ายชำระหนี้การค้าได้ตามเครดิตเทอมปกติ และสามารถชำระคืนเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยได้ตามเงื่อนไขที่ตกลงในสัญญา สภาพคล่องของกิจการ ณ ปลายปี นอกจากเงินสดแล้ว ยังมีวงเงินสำหรับเงินทุนหมุนเวียนพร้อมใช้อีกด้วย

โครงสร้างเงินทุน

(หน่วย: ล้านบาท)

  ปี 2559 ปี 2558 ปี 2557 ปี 2556 ปี 2555  
เงินกู้ยืม 4,528 6,312 5,909 4,851 5.531  
ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ 9,990 8,073 6,388 4.110 3,064  
ส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม 37 27 26 20 13  
เงินทุนรวม 14,555 14,412 12,323 8,981 8,608  
อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Gearing ratio)
(เฉพาะหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย)
0.45 0.78 0.92 1.18 1.80 เท่า

บริษัทฯ ได้ทบทวนโครงสร้างเงินทุนและปรับโครงสร้างหนี้เท่าที่จะสามารถทำได้มาโดยตลอด จึงทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนค่อยๆ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 2.09 เท่า ในปี 2554 มาเป็น 0.45 เท่า ในปี 2559

รายจ่ายลงทุน

สำหรับปี 2559 บริษัทฯและบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุน จำนวน 1,050 ล้านบาท โดยงบลงทุนจำนวนประมาณ 320 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายลงทุนในโครงการขยายกำลังการผลิต เฟส 3 ของบริษัทฯ (เพิ่มกำลังการผลิต 700,000 ตารางฟุต/ต่อเดือน) ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของ บจ. เคซีอี เทคโนโลยี จำนวนประมาณ 220 ล้านบาท และในโครงการขยายกำลังการผลิตของ บจ. ไทยลามิเนต จำนวนประมาณ 160 ล้านบาท นอกจากนั้น บริษัทฯ ได้ซื้ออาคารสำนักงานที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเงินประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานตัวแทนของบริษัทฯ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต และมีรายจ่ายอีกจำนวนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายลงทุนของบริษัทย่อยอื่น รวมทั้งการซื้ออุปกรณ์ต่างๆ และการปรับปรุงระบบสนับสนุนการผลิต (facilities) ตามที่จำเป็น

รายการพิเศษ

ในปี 2559 ไม่มีรายการพิเศษที่มีผลกระทบทางการเงินอย่างเป็นสาระสำคัญ นอกจากรายการดังต่อไปนี้

  1. บจ. เคซีอี เทคโนโลยี (บริษัทย่อยของบริษัทฯ) ได้ตั้งสำรองค่าเผื่อการด้อยค่าทรัพย์สิน จำนวน 57 ล้านบาท สำหรับเครื่องจักรที่ถูกเปลี่ยนแทนโดยเครื่องจักรใหม่เพื่อรองรับการปรับปรุงกระบวนการผลิตในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานที่อยุธยา
  2. บจ. เคซีอี เทคโนโลยี (บริษัทย่อยของบริษัทฯ) ได้บันทึกการปรับปรุงค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล เกี่ยวกับเงินชดเชยค่าประกันภัยของปีก่อน จำนวนประมาณ 22 ล้านบาท และได้ยื่นจ่ายภาษีเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้วในไตรมาส 4 ปี 2559
  3. คณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติโครงการร่วมลงทุนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ครั้งที่ 1 (Employee Joint Investment Program "KCE-EJIP No.1") ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการให้ผลตอบแทนแก่พนักงาน และผู้บริหารของบริษัท และเป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน และรักษาบุคคลากรไว้กับบริษัทในระยะยาว ซึ่งโครงการได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.แล้ว โดยมีระยะเวลาสมทบเงินเข้าโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 - 30 มิถุนายน 2564 รวมระยะเวลา 5 ปี ในรอบปี 2559 บริษัทฯ และบริษัทย่อย ได้จ่ายเงินสมทบให้แก่พนักงาน เป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 16 ล้านบาท


ปัจจัยและอิทธิพลที่อาจมีผลต่อการดำเนินงานหรือฐานะการเงินในอนาคต

บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อก้าวไปพร้อมกันกับความต้องการของลูกค้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีการทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรม PCB สำหรับยานยนต์

บริษัทฯ จะยังคงเดินหน้าในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนการเติบโตของกำไรอย่างยั่งยืน และสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงสำหรับอนาคตด้วยประสบการณ์และความชำนาญที่มีทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ เพิ่มการวิจัยพัฒนาใน PCB เทคโนโลยีสูง พร้อมๆ กับการขยายฐานลูกค้าในตลาดเป้าหมายโดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มประเทศเอเชียที่มีศักยภาพการเติบโตระดับสูง เพื่อเร่งการเติบโตของธุรกิจในอนาคต

บริษัทฯ ได้ดำเนินโครงการสร้างโรงงานแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ขนาดกำลังการผลิตเต็มโครงการ 2 ล้าน ตารางฟุต/เดือน เพื่อรองรับธุรกิจที่จะเพิ่มขึ้นจากทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ การก่อสร้างในเฟสแรก เริ่มการก่อสร้างโรงงานในไตรมาส 4/2556 และสามารถเปิดดำเนินการผลิตได้ในไตรมาสแรกของปี 2558 โดยมีกำลังการผลิตที่ 700,000 ตารางฟุต/ต่อเดือน การลงทุนในเฟสที่ 2 ได้เริ่มดำเนินการในไตรมาส 3/2558 ในเฟสนี้เป็นการโอนย้ายเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตจากโรงงานเดิมไปยังโรงงานใหม่ และมีการลงทุนในเครื่องจักรใหม่เพิ่มบางส่วน โดยมีกำลังการผลิตที่ 600,000 ตารางฟุต/ต่อเดือน เท่ากำลังการผลิตที่โรงงานเดิม การลงทุนในเฟสต่อขยาย เฟสที่ 3 มีแผนที่จะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 4/2559 โดยมีการลงทุนในเครื่องจักรใหม่ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีก 700,000 ตารางฟุต/ต่อเดือน คาดว่า โรงงานจะใช้กำลังการผลิตเต็ม 2 ล้าน ตารางฟุต/ต่อเดือน ในปี 2561 ซึ่งจะมีผลทำให้ยอดขายเติบโตได้ โดยเฉลี่ย ร้อยละ 20 ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2558 ถึง ปี 2561

การลงทุนและการดำเนินโครงการเป็นไปตามแผน โรงงานใหม่ เฟส 1 เริ่มเปิดดำเนินการในต้นปี 2558 โดยมีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้นมาโดยลำดับ การลงทุนในเฟสที่ 2 ได้เริ่มดำเนินการในไตรมาส 3/2558 ตามแผน การย้ายเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตจากโรงงานเดิมไปยังโรงงานใหม่เสร็จสิ้นในกลางไตรมาส 4/2558 ทำให้มีการใช้กำลังการผลิตที่โรงงานใหม่เพียงแห่งเดียว และเกิดการประหยัดต่อขนาด (economies of scale) ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และมีกำไรมากขึ้น

ส่วนการลงทุนในเฟสที่ 3 ได้เริ่มดำเนินการสั่งซื้อเครื่องจักรแล้วบางส่วนตั้งแต่ในไตรมาส 3-4/2559 เฉพาะเครื่องที่จำเป็น หรือเป็นเครื่องจักรที่มีระยะเวลาการส่งมอบยาวนาน และจะมีการซื้อเครื่องจักรเพิ่มอีกครั้งในช่วงไตรมาส 3-4/2560 งบลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท คาดว่าการติดตั้งเครื่องจักรใหม่จะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/2560 และสามารถเริ่มดำเนินการผลิตได้ในต้นปี 2561


Please read our General Disclaimer & Warning carefully.
Use of this Website constitutes acceptance of the Terms of Website Use.
Copyright © 2024. ThaiListedCompany.com. All Rights Reserved.

Please read our General Disclaimer & Warning carefully.
Use of this Website constitutes acceptance of the Terms of Website Use.
Copyright © 2024. ThaiListedCompany.com. All Rights Reserved.